
พระกำแพงกลีบจำปา กรุวัดบรมธาตุ
พระกำแพงกลีบจำปา กรุวัดบรมธาตุ
ถือว่าเป็นเพชรนำ้เอกของเมืองกำแพงเพชร
เมื่อได้พูดถึงพระกำแพงพลูจีบไปแล้ว ทำให้นึกถึงพระกำแพงลีลาชั้นนำอีกองค์หนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นพระเครื่องในระดับตำนานที่หาชมของแท้ได้ยากยิ่งนัก พระที่ว่านี คือกำแพงกลีบจำปา
พระพิมพ์นี้เป็นปางลีลา ศิลปะสุโขทัยตามแบบฉบับของพระลีลาของกำแพงเพชรสกุลทุ่งเศรษฐี มีฐานรองรับด้วยบัวเล็บช้างสามกลีบ พุทธลักษณะใกล้เคียงกับพระกำแพงเม็ดขนุนมาก ที่ต่างกับพระกำแพงเม็ดขนุนและสามารถแยกแยะง่ายๆ ก็คือ พระกำแพงเม็ดขนุนฐานเรียบ ไม่มีลักษณะเป็นบัว พระกำแพงกลีบจำปาด้านหลังจะเป็นแบบปาดเรียบ ไม่ใช่อูมนูนขึ้นแบบพระกำแพงเม็ดขนุน และขอบข้างจะเป็นลักษณะแบบขอบตัดส่วนพระเม็ดขนุนไม่มีลักษณะที่ว่า หรือถ้าจะว่ากันสั้น ๆ ก็คือ ถ้ามีลักษณะบางคือ กำแพงกลีบจำปา ถ้าอูมหนาก็คือกำแพงเม็ดขนุน
มีหลักฐานว่าพระกำแพงกลีบจำปาพบครั้งแรกที่วัดพระบรมธาตุ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ พร้อม ๆ กับการพบพระกำแพงเม็ดขนุน แต่พบน้อยมาก ที่นักนิยมพระในยุคเก่าท่านพากันเรียกว่าพระกำแพงกลีบจำปาเพราะมีสัณฐานบาง เรียวแบน ปลายแหลมเรียวมน และมีสีเหลืองเข้มคล้ายดอกจำปา
หลังจากการพบครั้งแรกแล้ว ไม่มีการพบพระพิมพ์นี้อีกเลยจนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้มีการพบพระพิมพ์นี้อีกที่บริเวณลานทุ่งเศรษฐี แต่พบเพียงประมาณ ๒๐๐ องค์ เท่านั้น
การพิจารณาพระกำแพงกลีบจำปา พระพิมพ์นี้เป็นพระเครื่องที่แก่ว่านมาก ด้านข้างมีปีกแผ่กว้างออกไป มีรอยถูกตัด เจียนด้วยของมีคม ทั้งหมดจะมีคราบกรุจับแน่นซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในพระกำแพงที่ “ แก่ว่าน “ อันเกิดจากคราบน้ำว่านที่ขับออกมาผสมผสานกับดินกรุ และจะมีรารักกระจายทั่วไป ที่สำคัญและถือเป็นจุดพิจารณาก็คือ ทุกองค์จะมีดินกรุสีเหลืองแนบแน่นอยู่บนผิวมีลักษณะเป็นดินปนทรายสีเหลืองละเอียด
การพิจารณาธรรมชาติ ด้านหลังจะมีรอยลายมือจาง ๆและมีการยุบตัวเป็นคลื่น ไม่ตึงเรียบเป็นอันขาด เมื่อพิจารณาด้านข้างอย่างช้า ๆ จะเห็นว่าขอบข้างที่บางนั้นจะมีการยุบตัวลงเล็กน้อยไม่ตึงราบเช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเซทตัวของเนื้อพระที่ผ่านเวลาอันยาวนาน ลักษณะของรารักขอให้กลับไปอ่านบทความเก่าเกี่ยวกับคราบรารักที่ผู้เขียนได้เสนอแนะไว้อย่างละเอียดแล้ว
พระกำแพงกลีบจำปาที่พบยังมีแบบเนื้อชินเงิน ซึ่งมีลักษณะบางมากและด้านหลังจะเป็นแอ่งเว้นลงไปปรากฏลายผ้า ส่วนใหญ่เนื้อจะระเบิดผุ หาองค์ที่สมบูรณ์ยากมาก นอกจากนี้ยังมีแบบว่านหน้าทองซึ่งเป็นพระที่พบเพียงไม่กี่องค์
พระกำแพงกลีบจำปาที่พบมีอยู่ ๓ ขนาด ลดหลั่นกันเล็กน้อยจึงจำแนกออกได้เป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก พิมพ์ใหญ่มักจะลึกและงามกว่า ปีกขอบด้านข้างมักตัดชิดองค์ พิมพ์กล่างและพิมพ์เล็กจะมีปีกกว้างและมักจะตื้นกว่าแบบแรก
คนโบราณท่านพูดต่อ ๆ กันมาว่าพระกำแพงกลีบจำปามีพุทธานุภาพทางเมตตามหานิยม แคล้วคลาด และอำนวยโชคลาภ เป็นพระที่เลิศด้วยศิลป และเป็นพระหายากยิ่งเพราะพบน้อย นักนิยมพระรุ่นเก่าเมื่อยุคก่อน ๒๕๐๐ โดยเฉพาะนักนิยมพระรอบนอกหรือท้องถิ่นเวลาที่ท่านพูดถึงพระกำแพงลีลา ท่านจะพูดกันว่า “ กำแพงเขย่ง “ ในบรรดาพระกำแพงเขย่งที่ถือเป็นสุดยอดนี้ มี ๓ องค์ที่ท่านมักจะกล่าวไว้ก็คือ เม็ดขนุน “ พลูจีบ กลีบจำปา “ ท่านทีมีพระพิมพ์นี้ก็ขอให้ทราบว่า ท่านเป็นเจ้าของพระเครื่องขั้นสุดยอดองค์หนึ่งของพระเทศไทย ที่เพียบพร้อมด้วยคุณค่าทางโบราณศิลป์ และพุทธกฤตยานุภาพชนิดเชื่อถือได้เลยทีเดียวครับ
อัพเดต: 22/03/2022
| อ่าน: 1,526 คน
ประวัติและความเป็นมา "พระนางกำแพง พิมพ์เม็ดมะลื่น"
01/12/2021
5,990
ประวัติและความเป็นมา "พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เส้นด้าย"
18/02/2020
22,989
ประวัติและความเป็นมา "พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ"
02/06/2020
3,940
หลวงพ่อปาน พิมพ์ทรงไก่ หางพวง วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา
04/09/2024
310