เหรียญหล่อหลวงพ่อวัดไร่ขิง พิมพ์ก้นแมงดา ปี พ.ศ.2460 

เหรียญหล่อหลวงพ่อวัดไร่ขิง พิมพ์ก้นแมงดา<br /> ปี พ.ศ.2460 <br /> “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานเป็นที่เคารพกราบไหว้อยู่ ณ วัดไร่ขิง เป็นเวลานาน คนในท้องถิ่นต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ และมักกราบไหว้บนบานเมื่อมีทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ<br /> ด้านวัตถุมงคลที่กล่าวขานร่ำลือกัน “เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปี 2467” นับเป็นเหรียญรูปเหมือน ที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก (รุ่นแรก) ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง<br /> แต่ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือ เหรียญหล่อหลวงพ่อวัดไร่ขิง ที่จัดสร้างในราวปี พ.ศ.2460 สร้างโดยพระอธิการใช้ ปติฏโฐ อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง รูปที่ 5 เมื่อครั้งยังรักษาการเจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ.2455-2475 รูปร่างเหรียญมีลักษณะคล้ายแมงดานา คือ มีก้นแหลมรูปสามเหลี่ยม บรรดาเซียนพระเรียกขานว่า “รุ่นก้นแมงดา”<br /> ลักษณะของเหรียญดังกล่าว ด้านหน้าเหรียญ มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธปางสมาธินั่งบนดอกบัว 3 กลีบ<br /> ด้านหลังเหรียญมีอักขระยันต์คำว่า “พุทโธ”<br /> พิธีการปลุกเสกเหรียญหล่อโบราณชุดนี้ พระอธิการใช้ นิมนต์พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดนครปฐมในสมัยนั้น เข้าร่วมพิธีการปลุกเสกมากมายหลายท่าน อาทิ หลวงปู่บุญ ขันธโชติ วัดกลางบางแก้ว, หลวงพ่อทา โสณุตตโร วัดพะเนียงแตก, หลวงพ่อห้อย ปุญญัสสะ วัดหอมเกล็ด, หลวงปู่นาค โชติโก วัดห้วยจระเข้ เป็นต้น จึงมั่นใจในความเข้มขลังยิ่ง<br /> จัดเป็นพระที่หายาก เนื่องด้วยจำนวนการสร้างที่น้อย อีกทั้งจำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้<br />  <br /> “วัดไร่ขิง” หรือ “วัดมงคลจินดาราม” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม<br /> เดิมเป็นวัดราษฎร์ ต่อมาจึงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2533<br /> เรียกชื่อวัดตามชื่อตำบล เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้อัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดศาลาปูน ประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิงด้วย ปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระประธานในพระอุโบสถ<br /> ส่วนหลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี 5 ชั้น มีผ้าทิพย์ปูทอดลงมา ผินพระพักตร์สู่ทิศเหนือ องค์พระงดงาม เป็นการผสมผสานงานพุทธศิลป์ 3 สมัย คือ เชียงแสน อู่ทอง และสุโขทัย<br /> แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใครสร้างขึ้นเมื่อไหร่ จากหนังสือประวัติของวัด ระบุว่าเรื่องราวของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมราชานุวัตร ตั้งแต่ครั้งเป็นวัดศาลาปูนวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา<br /> สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) พื้นเพเป็นชาวนครชัยศรี เล่ากันเป็นสองนัยว่า เป็นผู้สร้างวัดไร่ขิง เมื่อปี พ.ศ.2394 อาราธนาพระพุทธรูปจากพระนครศรีอยุธยามาเป็นพระประธาน<br /> กับอีกความหนึ่งว่า วัดไร่ขิงเดิม มีพระประธานอยู่แล้วแต่องค์เล็ก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) จึงให้ไปนำพระพุทธรูปจากวัดของท่าน ซึ่งผู้คนจากวัดไร่ขิงก็พากันขึ้นไปรับ เชิญลงแพไม้ไผ่ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำท่าจีนจนถึงวัด ก่อนอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันสงกรานต์ในปีนั้นพอดี<br /> ขณะที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากน้ำสู่ปะรำพิธี เกิดความมหัศจรรย์ แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป ความร้อนระอุในวันสงกรานต์กลางเดือนห้า บังเกิดมีเมฆดำทะมึน ฝนโปรยลงมา ทุกคนในที่นั้นเกิดความยินดี พากันอธิษฐานจิต<br /> “ขอหลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลทำให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร”<br /> จึงถือเป็นวันสำคัญ จัดให้มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปี หลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อมาถึงทุกวันนี้ เรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับน้ำอยู่ตามสมควร ในประวัติพระพุทธรูปหลายสำนวน นับรวมอยู่ในพระพุทธรูปห้าองค์พี่น้องที่ลอยน้ำมาจากทางเหนือ ประกอบด้วย หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จ.สมุทรสงคราม<br /> บางแห่งก็เพิ่มหลวงพ่อวัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี และหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน จ.สมุทรปราการ และขึ้นประดิษฐาน ณ ที่ต่างๆ กันด้วย<br /> ชาวบ้านเชื่อศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์มากมายเป็นอเนกประการ บันทึกไว้ในหนังสือประวัติวัดและหลวงพ่อวัดไร่ขิง เช่น หลวงพ่อวัดไร่ขิง มีอภินิหารปิดทองไม่ติด น้ำมันและน้ำมนต์ของหลวงพ่อ รักษาโรคภัยต่างๆ ได้ เป็นต้น<br /> ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง ส่งผลให้วัดไร่ขิงเป็นพระอารามที่เจริญก้าวหน้า สง่างาม ริมแม่น้ำท่าจีน มีศาสนสถาน เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และมีเขตสาธารณสถาน อันเป็นสาธารณกุศล สาธารณประโยชน์ของวัด สงเคราะห์แก่ประชาชน ส่วนราชการ<br /> วัดไร่ขิง ยังได้สร้างสถานศึกษา สถานพยาบาล อันได้แก่ โรงเรียนประชาบาลวัดไร่ขิง (สุนทรอุทิศ) โรงเรียนมัธยมศึกษาวัดไร่ขิง (วัดไร่ขิงวิทยา) วิทยาลัยสารพัดช่างวัดไร่ขิง โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี เป็นต้น<br /> ในงานประจำปีวัดไร่ขิง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 มีมหรสพ 9 วัน 9 คืน ซึ่งประชาชนต่างแห่นมัสการสักการะ และบนบานศาลกล่าวด้วย “ว่าวจุฬา”

  อัพเดต: 05/01/2023

  อ่าน:  1,703  คน